BLOG

ซื้อโน๊ตบุ้ค ยังต้องดูมั๊ยว่าจอ IPS?

ซื้อโน๊ตบุ้ค ใครๆ ก็อยากได้จอ IPS แล้วตกลงมันคืออะไร?
แล้วตกลงมันดีหรือไม่ดี? มาๆ ผมขอเขียนให้อ่านกัน

เนื่องจาก LEVEL51 เรา เปิดให้ทุกท่านแชทเข้ามาสอบถามได้เรื่อง Spec ของโน๊ตบุ้ค (เราเป็นบริษัททำ Custom Laptop จ้า) เรากล้ายืนยันเลยละ ว่า LEVEL51 เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้ยินความต้องการในการเลือกซื้อโน๊ตบุ้คของทุกท่านมากที่ในประเทศนี้ และคำถามที่ได้ยินบ่อยมากที่สุดในชีวิตการทำงานตอบ Facebook ของเพจ LEVEL51pc นั้นก็คือ มันเป็นจอ IPS มั๊ย เนี่ยแหละ แต่ทุกวันนี้ค่อนข้างน้อยลงแล้ว เพราะว่า LEVEL51 ใส่คำว่า IPS, AHVA และ TN ลงไปในตัวเลือกเลย เเลยกลายเป็นว่า ได้เป็นคำถามมาว่า คำพวกนั้นมันคืออะไรแทน...

ผมเชื่อว่าทุกท่านน่าจะต้องเคยได้ยินว่า หน้าจอ มันมีแบบ IPS, AMOLED หรือ OLED อยู่ สามคำนี้คือ ชื่อเรียกเทคโนโลยี ของหน้าจอนะ (Panel Technology) ซึ่งต้องขอชี้แจงก่อนเลยว่า เทคโนโลยีของหน้าจอ ไม่ได้มีผลโดยตรงกับคุณภาพของหน้าจอเลย แต่ก่อนที่เราจะไปเรื่องนั้น เรามารู้ัจักเทคโนโลยีหน้าจอกันก่อนเลย

อะไรคือ 'เทคโนโลยีหน้าจอ' ?

หน้าจอก็เหมือนกับทุกอย่างบนโลกนี้ ซึ่งก็จะมีหลายคนที่คิดจะทำเหมือนกัน อย่างรถ ก็มีเครื่องยนต์ SkyActiv ของ Maza, Earth Dreams ของ Honda หรือ EcoBoost ของ Ford เป็นต้น จอภาพก็เหมือนกัน มีคนพยายามทำออกมาแข่งขันกันหลายบริษัท แต่ในกลุ่มจอภาพโน๊ตบุ้คนี้ จะเป็นชนิดที่เรียกว่า TFT LCD (Thin Film Transistor Liquid Crystal Display) เป็นส่วนมาก ซึ่งก็เป็นลูกหลานของจอ LCD ที่อยู่ในเครื่องคิดเลข กับนาฬิกา G-SHOCK นั่นแหละ

ต้นกำเนินของเทคโนโลยีจอ LCD นี้ เริ่มมาจากการค้นพบ Liquid Crystal ตั้งแต่ปี 1888 กันเลย โอ๊ว ส่วนนักวิจัยที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้คิดค้นหน้าจอ LCD นี่ คือคุณ George H. Heilmeier ที่ IEEE (Institute of Electrical and Electronics Engineers - สมาคมวิศวกรไฟฟ้าและอิเลกทรอนิกส์ ประมาณนั้น) ถือว่าเป็น Milestone ที่เปลี่ยนโลกกันเลยทีเดียว

ส่วนจอภาพ LED, LED TV ที่เราเรียกกันนั้น เป็นจอภาพ TFT LCD ที่ใช้ไฟแบบ LED (ไฟดวงเล็กๆ) ส่องสว่างด้านหลัง เพื่อให้เรามองเห็นภาพ แทนการใช้หลอด CCFL (หลอดนีออน) นะ มันยังคงเป็นจอแบบ LCD เหมือนเดิม ถ้าจอภาพ LED จริงๆ คือจอภาพที่ 1 Pixel เป็นหลอดไฟ LED 1 ดวงเลย จะเห็นได้ทั่วไปตามสี่แยกไฟแดงในกรุงเทพฯ ตอนนี้ ซึ่งบางแยกก็สว่างซะตาแทบบอดเวลามันเป็นโฆษณาที่เป็นสีขาวตอนกลางคืนนั่นไง 

เริ่มกันที่ชื่อที่ทุกคนกลัวกันก่อนดีกว่า...TN!

TN - Twisted Nematic field effect

ชื่อที่ทุกคนต่างเกรงกลัวชื่อนี้แหละคือต้นกำเนิดของจอภาพ LCD เลย มีมาตั้งแต่ปลายปี 1970 ละ (ใช้เวลาเกือบ 100 ปี จากการค้นพบ Liquid Crystal ครั้งแรก!!!) เทคโนโลยีนี้คือเทคโนโลยีที่ทำให้เราสามารถผลิตหน้าจอที่ใช้พลังงานต่ำ ราคาค่อนข้างถูก ซึ่งหลักการของมันก็น่าสนใจดีนะ

ก็ดูตามภาพ อันนี้คือ 1 Cell (ไม่ได้แปลว่า 1 Pixel เสมอไปนะ ถ้าเครื่องคิดเลขมันคือ 1 ช่องในตัวเลข) ภาพซ้ายคือสถานะ OFF จะเห็นว่าโมเลกุลของ Liquid Crystal (LC) ที่เป็นทรงกระบอก จะเรียงอยู่ในรูปบิดๆ ระหว่างกระจก 2 แผ่น (G) ที่เคลือบด้วย Electrode แบบใส (E1, E2) กับฟิลม์ Polarizer (P1, P2) ที่หันกันคนละด้าน สังเกตให้ดี จะเห็นว่าซี่ๆ มันไปคนละทาง และในชั้น E1, E2 จะมีการเคลือบอะไรก็ไม่รู้ Wikipedia ไม่ได้บอก ที่ไปเหนี่ยวนำทำให้โมเลกุลของ LC มันบิดเป็นรูปนั้น 

TN-LCD-schematic-MS-208kB.png
CC BY-SA 3.0, Link

พอแสง (L) วิ่งผ่าน P2 ไปมันก็จะถูกกรองให้เหลือเฉพาะลำแสงที่อยู่ในทิศเดียวกะ P2 ผ่านไปได้ (ถูก Polarize) ซึ่งในสถานะที่มัน OFF อยู่ แสงจะถูก LC หมุนให้มันตรงกับ ทิศ Polarize ของ P1 ทำให้แสงผ่าน P1 ไปได้สบาย เราก็จะมองไม่เห็นอะไร เป็นจอเครื่องคิดเลขว่างๆ

พอมันเป็นสถานะ ON คือมีไฟเลี้ยง โมเลกุลของ LC ก็จะไม่บิดละ แต่จะไปขนานกับทิศทางของ L แทน เป็นแนวดิ่งระหว่างชั้นกระจก ทำให้แสงไม่ถูกบิด พุ่งตรงทะลุผ่านชั้น LC ไปเลย ซึ่งก็จะเป็นทิศเดียวกับที่ P1 จะกรองออกพอดี (พูดอีกอย่างก็คือ ทำมุม 90 องศากับมุม Polarize ของ P1) ทำให้แสงนี้ผ่าน P1 ไม่ได้ เราก็เลยมองเห็นภาพ (I) เป็นสีดำ! ส่วนถ้าจะให้สีเป็นแบบ Gray Scale (ไล่สีเทา) ก็คือควบคุมปริมาณการบิดของ LC ในระดับต่างๆ กัน เราก็จะได้ปริมาณความดำไม่เท่ากันนั่นไง!!!

(และที่สำคัญ พอเรารู้ว่ามันทำงานแบบนี้ ก็เลยเก็ทว่า นาฬิกา G-Shock Limited บางรุ่นที่แพงๆ แล้วจอภาพมันกลับสีกัน คือปกติสีดำ แต่ตัวเลขมันใส เวลาเปิด Backlight แล้วเห็น Backlight เป็นตัวเลข มันก็แค่วาง P1 กะ P2 สลับกันเองนี่นา :P)

น่าทึ่งมากเลยเนาะ! เคยสงสัยเหมือนผมมั๊ยว่าคนที่ Invent ของแบบนี้ อยู่ดีๆ ทำไมเขาถึงคิดออก แล้วส่วนใหญ่มันก็จะเป็นอะไรที่พอทำได้แล้วดูง๊ายง่ายด้วย เหอๆ ซึ่งพัฒนาการของมันต่อมาก็จะไปเป็นเรื่อง Passive Matrix, Active Matrix ที่ทำให้จอภาพมันเป็นแบบ Pixel (แทนแบบ Cell ในเครื่องคิดเลข) เรียกได้ว่าพอมีการค้นพบ TN ขึ้นมา ก็มีพัฒนาการของจอภาพยาวมาเลย

แถมให้: ถ้าที่บ้านมีกล้อง ที่มี Polarizer Filter ลองเอาใส่ แล้วมองดูที่จอเครื่องคอมพ์ดู จะเห็นว่า เราสามารถลบภาพบนหน้าจอได้เลย โดยการหมุน Polarizer เพราะว่าแสงที่ออกมาจากหน้าจอ มันถูก Polarize หรือจัดทิศมาแล้ว ถ้าเราไปกันทิศนั้นออก เราก็จะมองไม่เห็นอะไรบนจอเลยนั่นเอง

IPS - In Plane Switching

พอเรารู้หลักการของ TN แล้ว พอจะเดาได้มั๊ยว่าจอ IPS ทำงานยังไง? ก็ ตามชื่อมันเลยคือ "In-Plane" Switching คือตัว E1, E2 มันวางอยู่บนชั้นกระจก แล้วก็ใช้หลักการเดิมเลยคือ แสง L1 วิ่งผ่าน Polarizer P แล้วชั้น LC ก็หมุนลำแสงไป 90 องศา ให้ผ่าน Polarizer A ไม่ได้ แต่ในสถานะ ON สังเกตว่า ชั้น LC จะไม่ได้อยู่ในแนวดิ่งกับชั้นกระจก แต่เป็นแนวนอนแทน ก็คือ "In-Plane" กับกระจก หรือผู้ที่มองภาพ หลักการการทำงานแบบเดียวกับ TN เลย เพียงแต่ว่า แท่ง LC อยู่คนละแนวกัน

Diagram LCD IPS.jpg

 

By BBCLCD - Own work, CC0, Link

เฮ้ย! ลงดีเทลไปมั๊ย ยังไม่เข้าใจเลยว่าอันไหนดีกว่า!?!?

เราได้พอจะปูเพื่อให้พอจะรู้เรื่องแล้วว่า มันเป็นมายังไง คราวนี้ ทุกท่านจะสามารถอ่านบทความจากเว็บ tftcentral.co.uk รู้เรื่องแล้ว! เว็บนี้อธิบายได้ยอดเยี่ยมมากถึงเทคโนโลยีหน้าจอแบบต่างๆ สำหรับผู้ไฝ่รู้ทั้งหลาย ไปเสพกันได้เลย http://www.tftcentral.co.uk/articles/panel_technologies.htm มีคำอธิบายจอทุกแบบ ไล่ตั้งแต่ TN ไปเลยละ

มันเยอะ ขี้เกียจอ่านใช่ไหม อิอิ สรุปให้ก็คือ ทุกคนก็พยายามจะหาทางหมุนไอ้แท่งทรงกระบอกของ Liquid Crystal เนี่ย ไปในทิศทางต่างๆ กัน แล้วก็สรรหาวิธีการจัดเรียง Cell (Pixel) ในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ผลที่ผู้บริโภคต้องการนั่นแหละ

แต่สรุปว่าไม่ว่าจอจะเป็นเทคโนโลยีตัวไหน เขาก็สามารถทำจอคุณภาพดีๆ ออกมาได้ เอาชนะกันไปกันมา คนที่จมดิ่งกับเทคโนโลยีใดเทคโนโลยีหนึ่งไปแล้ว ก็จะมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาของเทคโนโลยีนั้นไปเรื่อยๆ เพื่อเอาชนะคู่แข่งที่ลงทุนไปกับเทคโนโลยีตัวอื่น เพราะมันเป็นเรื่องของการแข่งขันทางธุรกิจน่ะแหละ แล้วถ้าดูไปเรื่อยๆ ก็จะพบว่า จอ IPS ก็ไม่ใช่ของใหม่ เพราะว่ามันถูกคิดค้นขึ้นมาตั้งแต่ปี 1998! ยี่สิบปีมาแล้วนะ

สรุปคือ ผู้บริโภคอันชาญฉลาดอย่างเรา ต้องไม่ดูแค่ว่า มันคือ IPS เพราะว่ามันเป็นแค่เทคนิคการจัดเรียง Cell กับการหมุนแท่งโมเลกุล LC เท่านั้นเอง 

เลยนำไปสู่หัวข้อสำคัญเลย...

แล้วเวลาเราดูจอภาพ จะต้องดูอะไรบ้าง?

เอาละทีนี้เรารู้แล้วว่า IPS ก็คือวิธีหนึ่งในการทำจอภาพให้เราใช้ ซึ่งมันไม่ได้มีผลอะไรกับเราโดยตรงเลยซักนิดหนึ่ง เหมือนกับว่า เราใช้รถยนต์ มันจะเป็นเครื่อง SkyActiv, EarthDreams หรือ EcoBoost เราก็ไม่ได้สนใจซักหน่อย เราสนใจแรงม้า แรงบิด (สองอันนี้ผมสนเป็นพิเศษ) และอัตรากินน้ำมัน (ซึ่งผมไม่สนใจมันเลย) มากกว่า หรือว่าตอนเลือกมือถือเราก็เรียนรู้แล้วว่าแค่มีกล้องที่เลข Mega Pixel เยอะๆ ไม่ได้มีผลทำให้เซลฟี่ออกมาแล้วหน้าเด้งเลย มันอยู่ที่ App ตะหาก! แต่ตอนเลือกซื้อเครื่องซื้อจอ เรากลับไปมองก่อนเลยว่ามันต้อง IPS ซัะอย่างนั้น!

แล้วอะไรละ ที่เราควรจะหาดูในรีวิว? สิ่งแรกเลย ที่มีผลโดยตรงกับเราคือ Color Gamut (แก-หมึด) ครับ

Color Gamut!

Color Gamut ถ้าแปลตรงตัวก็จะแปลว่า ช่วงสีทั้งหมดที่เป็นไปได้ เนื่องจากคำว่า Gamut แปลว่า "complete range or scope of something" คำนี้ถูกใช้มาก่อนในวงการดนตรี แล้วก็มีการเอามาใช้ต่อในเรื่องของสีนี่แหละ

เวลาเราเปิดดู Color Gamut ก็จะเจอกับภาพเป็นก้อนๆ สีแบบนี้ เอาภาพจากเครื่อง NXL เว็บ LEVEL51 เลยละกัน เริ่มจากจอ IPS ที่ทุกคนต้องต่างก็ต้องการก่อนเลย

หมายเหตุ: เนื่องจากโพสนี้เขียนขึ้นนานแล้ว ปัจจุบัน LEVEL51 ใช้คำว่า Creator, Pro Creator กับ Gaming แทน โดย:

  • Creator เป็นจอ High Gamut (~100% sRGB Volume)
  • Pro Creator เป็นจอ Wide Gamut (มากกว่า sRGB Volume)
  • Gaming เป็นจอ Hz สูงกว่า 60Hz

ภาพต่อมา เป็นอีกจอนึงที่คนนิยมเลือกใช้กัน คือ AHVA High Gamut

และท้ายที่สุด จอ TN Wide Gamut ซึ่งดีที่สุดที่เรามีตอนนี้

Update: และล่าสุด เรามีจอ 4K Wide Gamut ให้เลือกด้วย เป็น 100% Adobe RGB (Volume) และ 100% DCI-P3 (Volume) สำหรับท่านที่ต้องการใช้งานพิมพ์ หรือ ตัดต่อ ในรุ่น MB และ GG จ้า

sRGB, AdobeRGB, DCI-P3, NTSC !?@@$#$%#$?

CIExy1931 AdobeRGB vs sRGB.png
By Mbearnstein37 - Own work, CC BY-SA 3.0, Link

คำพวกนี้เป็นชื่อเรียกของ Color Space หรือก็คือ Gamut ประเภทต่างๆ ที่แต่ละองค์กร แต่ละบริษัท ก็ตั้งขึ้นมาเป็นมาตรฐานของตัวเอง เพราะทุกคนก็อยากจะเป็นเจ้าของมาตรฐานยังไงละ!

มาตรฐานแรกคือตัวที่เราน่าจะได้ยินบ่อยที่สุด ก็คือ sRGB นั่นเอง มาตรฐาน sRGB นี้ เป็นมาตรฐานที่ยอมรับกันโดยทั่วไป มันถูกกำหนดขึ้นมาในปี 1996 โดย Microsoft ร่วมกับ HP สำหรับใช้ทั้งบนอินเตอร์เนต ในเครื่องพิมพ์ (ไม่ใช่แค่ของ HP) แล้วก็จอภาพ 

แต่สำหรับงานพิมพ์ มาตรฐาน sRGB นั้นจะมีสีกว้างไม่พอ เมื่อเทียบกับการพิมพ์ด้วยหมึกที่ใช้สีแบบ CMYK ซึ่งสามารถทำสีที่ Saturate/Intense มากกว่าจอภาพได้ (ถ้าแปลตรงๆ มันน่าจะแปลว่าสีเข้มคือมันมีปริมาณสีเยอะ แต่ว่าเรามักจะเรียกมันว่าสีสด) ทาง Adobe เลยได้พยายามสร้าง Color Space ของตัวเองขึ้นมาเองบ้าง เพราะว่าตอนนั้น Photoshop 5.0 กำลังจะมีระบบ Color Managtement โดยการอ้างอิงมาตรฐานอื่นขึ้นมา แล้วจริงๆ ก็สร้างผิดอีกต่างหาก จนสุดท้ายแก้ไปแก้มาเขาก็ปล่อยเลยตามเลยให้มันผิดไว้อย่างนั้นแหละ (ซะงั้น!!!) แล้วก็เป็นที่มาของ Adobe RGB (1998) ซึ่ง Gamut จะกว้างกว่า sRGB 

มาตรฐานถัดมาคือ DCI-P3 (ไม่อยู่ในภาพข้างบน) ซึ่งก็ไม่ได้มีอะไรพิเศษ ก็คือมันใหญ่กว่า sRGB ขึ้นไปอีกหน่อย เป็นมาตรฐานที่เพิ่งมีขึ้นประมาณปี 2010-2011 นี้เอง โดยทั่วไป จอที่ผ่านมาตรฐาน DCI-P3 (Coverage มากกว่า 97%) จะถือว่าเป็นจอภาพแบบ HDR หรือ Wide Gamut

และท้ายที่สุด ก็คือ NTSC, NTSC 1953 หรือ CIE1931 หรือ NTSC (CIE1931) ซึ่งจอภาพโดยมากจะแสดงเสปคโดยอ้างอิงจากมาตรฐาน CIE1931 นี้แหละ มันก็คือ Gamut อีกแบบหนึ่งเหมือนกัน มันคือขอบนอกที่เป็นรูปสามเหลี่ยมโค้งๆ ในภาพนั่นเอง

แล้ว CIE1931 อ้างอิงมาจากไหน? มันคือสีทั้งหมดที่มนุษย์โดยทั่วไปสามารถมองเห็นได้เลย โดยมาตรฐานนี้ถูกแทนที่ด้วย CIE1976 แล้ว แต่เราก็ยังใช้ 1931 กันอยู่ จะเห็นว่า มาตรฐาน sRGB กับ AdobeRGB นั้นยังแคบมากเทียบกับ CIE1931 ซึ่งคือสีที่เราสามารถมองเห็นได้ทั้งหมด ลองเปิดข้างบนนี้เทียบกันหลายๆ เครื่อง จะเห็นว่ามันไล่สีไม่เหมือนกันด้วยนะเออ

สำหรับจอภาพที่เราจะพบได้ทั่วไปในท้องตลาด จะมีดังนี้:

  • - 28% NTSC เป็นจอภาพยุคดึกดำบรรพ์ จอภาพสมัยก่อน จะแสดงสีได้แค่นี้ สังเกตว่าสมัยก่อนสีจะจืดๆ
     
  • - 45% NTSC เป็นจอที่พบได้ทั่วไปเลยละ ถ้าเทียบกับจอ 60%, 72% สังเกตได้ง่ายมากคือ สีเขียว สีเหลือง สีแดง จะจืดกว่า และสีแดงก่ำ (อย่างเช่นโลโก้ YouTube) จะแสดงผลออกมาเป็นสีส้มๆ จอภาพ IPS ส่วนมากก็เป็นเกรดนี้
     
  • - 60% NTSC เป็นจอภาพที่คุณภาพสีดีขึ้นกว่าปกติหน่อยนึง จอมาตรฐานเดิมของ N15, M15, NX, NXL และ MacBook Air จะเป็นตัวนี้แหละ ก่อนนี้เราเรียกมันว่า Standard ในเว็บ LEVEL51 แต่จริงๆ มันก็ไม่ได้ Standard มันคือ Medium แล้ว ที่โหดกว่าคือ จอ MacBook Air เป็น TN นะตอนลองไปเล่นที่ร้าน Apple ก็ไม่รู้ใช่ไหมละ!
     
  • - 72% NTSC เป็นจอภาพระดับเดียวกับ MacBook Pro รุ่นเก่าก่อน Touch Bar, Macbook เฉยๆ (ไม่มีคำว่า Air หรือ Pro) และจอภาพที่เราเขียนบนเว็บว่า Creator 
     
  • - 94% NTSC เป็นจอภาพระดับ DCI-P3 ระดับเดียวกับ MacBook Pro ตัวปัจจุบัน, iMac, Galaxy S9  และจอภาพที่เราเขียนว่า Pro Creator 

แล้วอะไรคือ จอ '100% sRGB' ?

ในเมื่อจอภาพมันบอกเป็น NTSC ทั้งนั้น ซึ่งในการเปรียบเทียบระหว่างมาตรฐาน NTSC และ sRGB นั้น ยิ่งยากเลย เพราะว่า Gamut นั้น เป็นข้อมูล 3 มิติ เนื่องจากสีมันมีสามสี คือแดง เขียว น้ำเงิน ถ้าเอามา Plot กราฟ มันจะต้องเป็นกราฟ 3 มิติ ที่เป็นรูปทรง ไม่ใช่แค่พื้นที่ ถ้าจะเปรียบเทียบกันจริงๆ คือต้องเปรียบกันทุกด้านเลย เราจะได้เห็นคนคุยกันบ่อยๆ ว่า จอภาพ 72% NTSC คือ จอ 100% sRGB แต่ว่าถ้าดูจากหน้าเว็บเลือกเสปคจอของเรา จะเห็นว่า เราแยกเป็นสองอันนะ คือ Gamut Volume กับ Gamut Coverage

สำหรับ Volume ก็คือขนาดของ Gamut ของจอนั้น (ย้ำว่ามันเป็น Volume นะ ไม่ใช่ Area) เมื่อเปรียบเทียบกับ Volume ของ sRGB นะ

ซึ่งการที่บอกว่า 72% NTSC คือ 100% sRGB หมายถึง Volume ของจอนี้ เมื่อเอาไปหารกับ Volume ของ sRGB แล้ว ได้ค่าออกมามากกว่าหรือเท่ากับ 1.0 ก็คือ ขนาดของก้อนสีในกราฟ มันใหญ่พอๆ กัน ผมมั่นใจเกิน 80% ว่าบนเว็บ Apple เคยเขียนไว้ด้วยนะ ว่าจอเป็น 100% sRGB ในหน้าเสปค (และก็โฆษณาว่า จอแมค แสดงผลได้มากกว่ามาตรฐาน sRGB ถึง 25%) แต่ว่าตอนนี้เอาออกไปแล้ว เพราะว่ามันมีความสุ่มเสี่ยงกับดราม่าตรงนี้้เอง

คือ ตอนที่ % NTSC น้อย ส่วนใหญ่มันจะไปพ้องกับ Coverage ของ sRGB ด้วย แต่พอหน้าจอที่ % NTSC สูงขึ้น ขนาดของ Volume จะไม่สามารถบอกได้ว่ามันครอบคลุมทุกสีในมาตรฐาน sRGB หรือเปล่าเพราะว่าบางที Volume มันเทไปด้านอื่นแทน จะเห็นว่าจอ High Gamut หรือ 72% NTSC นั้น ขนาดของ Volume อยู่ที่ 103% แต่ว่า Coverage อยู่ที่ 93.4% ส่วนจอ Wide Gamut Volume อยู่ที่ 137.5% แต่ Coverage อยู่ที่ 99.8%

ข้างบนนี้หมุนเล่นได้นะ ถ้าลองซูมดูดีๆ จอ Wide Gamut ถึงจะก้อนสีใหญ่โตมโหฬาร ก็ยังมีบางส่วน ที่มันไม่คลุมทั้งหมด ซึ่งคือมาตรฐาน sRGB นะ หรือสรุปได้อีกแบบก็คือ Coverage 99.8% หมายถึง ถ้ามาตรฐาน sRGB มีสีอยุ่ 1,000 สี จอ Wide Gamut จะแสดงได้ 998 สี มี 2 สีที่มันแสดงไม่ได้ ส่วนจอ High Gamut นั้น จะแสดงได้ 934 สี มี 66 สี ที่มันแสดงไม่ได้ นั่นเอง

Hz เท่าไหร่ถึงจะดี?

เรื่องถัดมาที่มีผลกับเราโดยตรงอีก ก็คือ Hz หรือจำนวนภาพที่หน้าจอสามารถแสดงออกมาได้ใน 1 วินาที 

สำหรับจอภาพแบบที่เราใช้กันมานานมาแล้ว จะอยู่ที่ 60Hz ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทำไมต้อง 60Hz ในขณะที่วีดีโอ แค่ 30fps (Frame Per Second = ภาพต่อวินาที = Hz เหมือนกัน) มันก็ดูลื่นแล้ว แต่เชื่อไหมว่า ถ้าเราลองปรับจอให้มันเป็น 30Hz เวลาใช้งานมันดูกระตุกมาก ไม่ลื่นเลย และนั่นแหละคือ Keyword ครับ ก็คือยิ่ง Hz เยอะ ภาพมันจะดูลื่นขึ้น ทางเดียวที่จะอธิบายความรู้สึกนี้ได้ ก็คือต้องไปที่ Apple Shop แล้วหยิบ iPad Pro ตัวใหม่ล่าสุดที่เป็นจอ 120Hz ลองปัดซ้ายปัดขวาเล่นดู จะเข้าใจถึงแก่นทันที! ถ้าไม่ว่างไปร้าน Apple แนะนำวีดีโอนี้เปรียบเทียบครับ น่าจะเห็นชัดเจนที่สุดแล้ว

แล้วจำเป็นไหมว่า จอ Hz สูง จะต้องใช้ GPU แรง เพื่อให้ fps มากเท่ากับจำนวน Hz ด้วย?

เป็นอีกข้อสงสัยที่ผมถูกถามบ่อยมากเลย ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า เรามีจอ Hz สูง เพื่อแก้ปัญหา Stuttering, Tearing ซึ่งผมเคยเขียนอธิบายไว้แล้ว ในเรื่องหน้าจอแบบ G-Sync ที่ตอนนี้เราไม่มีแล้ว เพราะมันไม่จำเป็นแล้ว เนื่องจากมีจอ Hz สูงนี่ไง :D

สรุปให้ฟังสั้นๆ เรื่อง Tearing/Stutter/GSYNC ก็คือ พอเครื่องเราแรงขึ้น ได้ fps มากกว่า Hz ของจอภาพ มันจะเกิด Tearing ก็คือจอภาพแสดงภาพมากกว่า 1 ภาพในภาพเดียว เพราะว่าภาพที่สองมันมาเร็วเกินไป หน้าจอซึ่งจะค่อยๆ ไล่แสดงผลจากบนลงล่าง ไล่ภาพแรกมายังไม่ทันถึงขอบล่างของจอ ข้อมูลที่มันต้องแสดงผลก็กลายเป็นของภาพที่สองไปแล้ว ถ้ายิ่งเร็วมากๆ บางทีเราเห็น 4-5 ภาพพร้อมๆ กันเลย~! เราเลยต้องเปิด VSYNC เพื่อให้ GPU รอให้หน้าจอวาดภาพเต็ม 1 ภาพก่อน แล้วค่อยส่งภาพใหม่ไป แต่พอเปิด VSYNC ก็คนที่เล่นเกมบ่อยๆ โดยเฉพาะเกม First Person ก็จะรู้สึกว่าหันหน้าแล้วภาพมันยังไม่หัน ก็เลยต้องปิด แล้วทนกับ Tearing แทน ซึ่ง GSYNC แก้โดยการ ปรับ Hz ของจอให้เท่ากับ Fps ของเกมครับ ซึ่งถ้า Fps สูงเกินหน้าจอ มันจะมีผลเหมือนเปิด VSYNC แต่ถ้าน้อยกว่า มันจะลดความรู้สึกกระตุกลง เพราะว่าถ้า fps น้อยกว่าจอภาพ เราจะมองเห็นภาพเดิมซ้ำ ระหว่างที่จอยังไม่ได้รับภาพใหม่มาแสดง เป็นสาเหตุที่เรารู้สึกว่ามันกระตุกนั่นเอง

สำหรับจอแบบใหม่ที่ Hz สูงๆ ปัญหา Stutter, Tearing ทั้งหมดยังคงมีอยู่ตามปกติ แต่ว่าด้วยความที่มันวาดภาพได้เร็วมาก โอกาสที่เราจะเห็นภาพซ้อนกันที 4-5 ภาพก็ลดลง หรือแทบไม่มีเลย และที่สำคัญก็คือ โอกาสที่เครื่องเราจะแรง ขนาดได้ fps เกิน 120 หรือ 144fps มันค่อนข้างจะยาก (และถ้าได้จริงๆ เราก็จะเปิดนู่นเปิดนี่เพิ่ม จนมันลดลงมาอยู่ดี) ทำให้ไม่จำเป็นจะต้องเปิด VSYNC ยังไงละ

แล้ว Contrast, Response พวกนี้ละ?

พวกนี้ส่วนใหญ่ ไม่ค่อยจะเป็นประเด็นสำคัญเท่าไหร่นะ สำหรับจอของ LEVEL51 ตัวเลือกก็จะถูกกำหนดด้วย Hz กับ Gamut เป็นหลักอยู่แล้ว :) แถมตอนนี้เราก็ให้จอ 144Hz High Gamut เป็นมาตรฐานอีกแล้วต่างหาก แต่เพื่อความครบถ้วน เรามารู้จักกับมันหน่อยละกัน

- Response Time (หน่วยเป็นมิลลิวินาที 1/1000 วินาที) : ความเร็วในการเปลี่ยนสีของ 1 Pixel หรือความเร็วที่มันจะหมุนเจ้าโมเลกุล Liquid Crystal นั่นแหละ ตอนนี้จอ Hz สูง ก็จะอยู่ที่ระดับ 5ms กันแล้ว จากจอปกติที่อยู่ที่ 25ms แต่ว่า เรื่อง Response Time มีการวัดค่าได้หลายแบบมาก เปรียบเทียบกันยาก และแน่นอนว่าทุกคนก็คงจะเอาเลขที่น้อยที่สุดมาบอกเราไง!

- Contrast (เป็นอัตราส่วน) : ยิ่งเยอะยิ่งดี แต่ไม่เสมอไป ส่วนใหญ่จะหมายถึงความสว่างของสีขาว เทียบกับสีดำ ซึ่งจอ OLED ซึ่งไม่มี Backlight ก็มีค่า Contrast = Infinity เลย เพราะว่า สีดำมันมืดสนิท (ก็คือ 0) โดยทั่วไป ผมเห็นจะเป็น 700:1 นะ ไม่เคยเห็นมากกว่านี้เลย

- Brightness (หน่วยเป็นแรงเทียน ต่อตารางเมตร): จอทั่วไปตอนนี้จะอยู่ที่ 250 แรงเทียนขึ้นไปนะ จากที่ลองๆ มา 300 แรงเทียนนี่ตาจะบอดแล้วถ้าเล่นตอนกลางคืน ส่วนจอที่ใช้กลางแดดจ้าแล้วยังอ่านออก ต้อง 400 แรงเทียนขึ้นไป (จอมือถือส่วนมาก)

- 1080p อันนี้คือความละเอียด ของ LEVEL51 เรามีแต่ 1080p เพราะว่ามากกว่านี้ใช้งานลำบาก เนื่องจากมันตัวเล็กเกินและบางคนพาลคิดไปว่าจอเสียเลยก็มีเพราะ Windows มันต้องขยายภาพโปรแกรมทำให้ภาพเบลอ 1080p คือ 1920x1080 หรือที่เรียกว่า Full HD ส่วน 720p คือ 1280x720 คือ HD เฉยๆ แต่ว่าจอคอมส่วนมากไม่รู้ทำไมเป็น 1366x768 (768p) สัมพันธ์กับ PPI คือจุดต่อตารางนิ้ว แต่ก่อนเราไม่เคยสนใจมันหรอก แต่มาสนใจตอนมี Retina Display นี่ไง :) ข้อมูลบนเว็บเราใช้เว็บนี้คำนวณให้นะ แต่สรุปก็คือ จอ 15 นิ้ว 1080p มันเหมาะสมแล้วละ ส่วนจอ 17 นิ้ว ถ้าความละเอียด 1080p ก็จะตัวใหญ่พอดีๆ

- Viewing Angle มุมมองเป็นองศา: สำหรับจอ AHVA ซึ่งก็คือจอ IPS รูปแบบหนึ่งจากคนละบริษัทกัน ให้มุมมองกว้างกว่าจอ IPS อีก ส่วน TN เป็น 120 องศาในแนวตั้งครับ ก็ถ้าไม่ได้นั่งพื้น แล้วคอมวางบนโต๊ะ ก็สามารถมองเห็นได้ปกติโดยที่สีไม่เพี้ยน (คือเขาหมุนองศาให้มันคลุมหน้าเราไว้แล้ว)

แล้ว LEVEL51 แนะนำว่าอย่างไร เวลาเลือกซื้อ?

ถ้าจะเลือกซื้อโน๊ตบุ้ค ก็แนะนำลองดูตามนี้เลย

  • ถ้าไม่ได้เป็นเครื่องของ LEVEL51 ซุึ่งเราบอกชัดเจนแต่ต้นว่าจะได้จอภาพตัวไหน ควรเช็ครีวิวดีๆ ก่อนนะ และเช็คเลข SKU ให้ตรงกับที่เราจะซื้อด้วย ว่าตกลงจะได้จอภาพตัวไหนกันแน่ บางทีจะเป็นรุ่นที่มี CPU เดียวกัน แรมเท่ากัน การ์ดจอเท่ากัน แต่ว่าได้จอภาพคนละตัว เป็นต้น
  • เลือกจอ High Gamut เอาไว้ก่อน ถ้าเป็นไปได้ ไม่ว่าจะใช้แต่งภาพหรือไม่ก็ตาม ส่วนถ้าเล่นเกม เลือกจอ Hz ที่สูงกว่าหรือเท่ากับ 120Hz เอาไว้ก่อน เพราะจะเล่นเกมแล้วรู้สึกลื่นกว่า สำหรับปัจจุบันนี้ ถ้้าจอ 144Hz ส่วนมากจะหายห่วงหน่อย เพราะว่าจะเป็นจอ High Gamut (72% NTSC) ทั้งหมด แต่ว่าช่วงเดือน กรกฎาคม 2563 นี้ จะมีหน้าจอ 144Hz 45% NTSC ออกมาวางจำหน่าย แทนจอ 120Hz 45% NTSC ดังนั้นก็อาจจะทำให้ต้องดูกันลำบากขึ้น
  • Response Time มีผล แต่มีผลไม่มากนัก บางท่านกลับชอบ Response Time สูงซะอีก เพราะว่าภาพมันจะนุ่มลื่นกว่าจากการที่มี Motion Blur สำหรับจอ IPS นั่น Response จะอยู่ที่ 25ms โดยประมาณ จอที่ Response น้อยกว่านี้ อาจจะวัดค่าต่างจากวิธีปกติ หรือเลือกเอาค่าบางค่ามาให้เราดู ที่มันดูน้อยกว่า ซึ่ง 25ms จัดว่าปกตินะ ไม่รู้สึกว่ามี Motion Blur แบบชัดเจน
BLOG

LEVEL51 คือใคร?

เราเป็นบริษัทโน๊ตบุ้คของคนไทย ใช้เครื่องจากโรงงาน CLEVO แบบยี่ห้อดังในต่างประเทศ ที่คุณสามารถเลือกสเปคเองได้เกือบทั้งเครื่อง ถ้าโน๊ตบุ้คและคอมพิวเตอร์ของคุณ คืออุปกรณ์สำคัญในการทำงาน นี่คือเครื่องที่ออกแบบมาสำหรับคุณ

1317
ลูกค้าที่รักเรา
0
เครื่องเกินแสนบาท
49
K
มูลค่าเครื่องโดยเฉลี่ย
0
K
สถิติเครื่องแพงสุด

ลูกค้าหน่วยงานราชการและมหาวิทยาลัย

ลูกค้ากลุ่ม Video Production, 3D Design, Software House

Landscape Design

ลูกค้ากลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมและก่อสร้าง

 

 

 

พิเศษเฉพาะคุณ - รับคูปองส่วนลด 2,000 บาท สำหรับการสั่งซื้อเครื่องกับเรา