BLOG

ลง Windows 10 Build 1809...แบบ Geekๆ

วิธีการลง Windows 10 1809 เวอร์ชั่นใหม่ แบบ Geekๆ
ลงจากใน Windows ไม่ต้องทำตัวบูต

หลังจากที่ในโพสก่อน เราได้แนะนำวิธีการดาวน์โหลดไฟล์ ISO ของ Windows 10 จากเว็บไมโครซอฟท์โดยตรงกันมาแล้ว ต่อไปก็ถึงคราวของวิธีการลง Windows Build ใหม่นี้แล้วสินะ วิธีการที่เราคุ้นเคยกันดี ก็คงจะเป็นการ ทำแผ่นบูต หรือ USB สำหรับบูต แล้วก็เสียบเข้าเครื่อง กด Restart หรือไม่ก็ Windows Media Creation Tool ที่ปกติเราก็โหลดมาจากเว็บไมโครซอฟท์นั่นแหละ

วันนี้ผมจะมาแนะนำอีกวิธีนึงแบบ Geekๆ ให้อ่านกัน ซึ่งมีประโยชน์มาก สำหรับท่านที่อยากลงใหม่ แต่พอดีดันไม่มี Flash Drive/Thumbdrive ว่างๆ อยู่เลย แล้วก็เหมาะมากสำหรับใช้ลง Windows ใหม่กับพวกกล่อง Windows Box (ที่มันเหมือน Android Box) กับ Tablet จีน (รวมถึง Surface ด้วย) ที่บางทีหาวิธีให้มันบูต USB ไม่ค่อยจะได้เลย ยิ่งถ้าเป็น Tablet จีน ก็ต้องหาสาย OTG ที่เป็น Micro USB มาใช้อีกต่างหาก

เอาละ มาเริ่มกันเลยดีกว่า!

1) Backup ข้อมูลก่อน

ขั้นแรกเลย Backup ข้อมูลใน C:\ ก่อน!

อย่าลืมว่ามันจะหายหมดเลยนะ พวก Documents, Music, Desktop ถ้ายังไม่ได้ย้ายที่ ก็ได้เวลา Copy แล้ว ส่วนถ้าจะย้าย คลิกขวาที่ Folder พวกนั้น แล้วกด Move ได้เลย

ส่วนท่านที่ไม่มี HDD สำรองตัวที่สอง ก็มีทาง Backup ได้อีกทางคือ ย่อขนาด Drive C ลง โดยคลิกขวาที่ปุ่ม Start เลือก Disk Management แล้วก็ใช้คำสั่ง Shrink ซึ่งจะ Shrink ได้มากน้อย ขึ้นอยู่กับว่าใช้ Drive C ไปเยอะแค่ไหนแล้ว บางทีอาจจะ Shrink ไม่ลงเลย ถ้ามีโปรแกรมซนๆ ไปเขียนข้อมูลอยู่ตอนท้ายของ Drive ถ้าเป็นแบบนี้ สามารถใช้โปรแกรม Easeus Partition Master เวอร์ชั่นฟรี ทำการย่อขนาดลงได้ พอย่อแล้ว ก็ค่อย Move มันไป Drive ใหม่อีกทีนึง

2) เอาไฟล์ install.wim ออกมา

อย่างที่บอกว่า อัันนี้เป็นวิธีแบบ Geek และเราจะไม่ทำ USB Boot ด้วย เมื่อเราได้ไฟล์ ISO มาแล้ว ก็ Double Click เพื่อให้ Windows ทำการจำลอง ISO ออกมาเป็น Drive แล้วก็ Copy ไฟล์ source\install.wim ออกมาวางไว้ในที่ที่หาได้ง่ายๆ เช่น นอกสุดของ D:\ อะไรแบบนี้ แต่ถ้าอยากให้มันลงได้เร็ว ก็แนะนำให้ใส่ไว้ใน Disk คนละตัวกันกับตัวที่จะลง เช่นมี SSD + HDD ก็ก็อปไว้ใน HDD เป็นต้น หรือถ้ามี Flash Drive USB3.0 จะใส่ไว้ในนั้นก็ได้

นอกจากนี้ ถ้าเกิดว่าเครื่องเสียบสาย LAN และที่บ้านมีกล่อง NAS (หรือเครื่องที่สามารถ Share Folder ได้)  สามารถที่จะก็อปไฟล์นี้ วางไว้ในกล่อง NAS/Share Folder ก็ได้ด้วยนะ เผื่อว่ามีหลายเครื่องจะใช้ ก็จะได้ไม่ต้องก็อปไว้หลายที่ แต่ต้องระวังว่า กล่อง NAS จะต้องอัพเดทแล้ว เพราะว่าถ้าเป็น Share แบบ SMBv1 (Linux รุ่นเก่าๆ) Windows จะไม่ยอมให้ต่อ เนื่องจาก SMBv1 นั้นเก่ามาแล้ว และมีช่องโหว่ด้านความปลอดภัย สมัยก้่อนโลกเรามันไม่ค่อยซับซ้อนขนาดนี้~

สำคัญอีกเรื่อง การลงผ่าน LAN (Share Folder) ใช้ได้เฉพาะกับเครื่องที่เป็นการ์ด Lan บ้านๆ (เช่น Realtek) ที่ Windows มองเห็นเลย โดยไม่ต้องลง Driver ถ้าพวก Killer Lan จะซับซ้อนหน่อย แต่ก็ทำได้เหมือนกัน ดูที่หัวข้อ 3.5 นะ

เพิ่มเตืิมสำหรับเครื่อง LEVEL51

ถ้าเกิดว่ามี USB Flash Drive/Thumbdrive ที่ Format เป็น NTFS แล้ว และไม่อยากลบข้อมูลข้างใน สามารถ Copy ไฟล์ทั้งหมดใน ISO เอาไปวางไว้ Flash Drive อันนี้จะสามารถใช้บูตเข้า Windows Setup ได้เลย โดยไม่ต้องใช้โปรแกรมสร้าง USB Boot Drive อย่าง Rufus นะ

3) เข้าโหมด Recovery

กดปุ่ม Start แล้วพิมพ์ว่า Recovery แล้วกดตามหน้าจอได้เลย (สำหรับเครื่องที่ไม่ได้ตั้ง Password ไว้ ก็กดผ่านไปได้เลยโดยไม่ต้องกรอก Password)

3.5) เปิดใช้งาน Network เพื่อต่อ Share Folder

(ถ้าเกิดว่าใช้ไฟล์จาก USB Flash Drive/Thumbdrive ก็ไม่ต้องทำขั้นตอนนี้นะ)

ทีนี้ถ้าเกิดว่า จะใช้ไฟล์ ที่วางไว้ใน Shared Folder/กล่อง NAS ก็เริ่มจากใช้คำสั่ง (เวลาที่บอกว่า ใช้คำสั่ง คือ กด Enter หลังจากพิมพ์จบนะ)

wpeinit

จากนั้น ใช้คำสั่ง

net use n: \\192.168.1.234\Space

เพื่อต่อเข้าไปยังกล่อง NAS ที่อยู่ IP Address 192.168.1.234 หรือถ้าไม่รู้ จะใช้ชื่อของมันก็ได้

โดยคำสั่งนี้จะเป็นการจำลอง Drive N: ให้เชื่อมไปยัง Shared Folder ที่ชื่อ Space ส่วนถ้าเกิดว่า ชื่อมันดันมีช่องว่าง ให้ใส่ " " ครอบไว้ เช่นถ้าจะต่อเข้าไปยัง Share ที่ชื่อ Company Space ให้พิมพ์ว่า

net use n: "\\192.168.1.234\Company Space"

ส่วนถ้าเกิดว่าเป็น Ethernet Controller แปลกๆ ทำตามนี้ เพื่อโหลด Driver นะ (โดยสรุปก็คือ ต้องไปหา Driver แบบที่ไม่เป็นตัว Install มา มันจะมีไฟล์ .cat, .inf, .sys รวมๆ กันอยู่ คลาย Zip ออกมาวางไว้ในที่ที่หาง่ายๆ แล้วใช้คำสั่ง drvload ตามด้วยชื่อไฟล์ .inf)

4) "Format" Drive C ทิ้งไป

ขั้นต่อมาก็คือเราจะลบข้อมูลใน Drive C ออก เพื่อเตรียมทำการติดตั้ง Windows โดยเราจะใช้คำสั่งตามนี้

diskpart

เพื่อเปิดโปรแกรมจัดการ Partition ของ Windows ขึ้นมา จากนั้น ใช้คำสั่ง

list volume

เพื่อแสดงรายการ Drive (ซึ่งก็คือ Partition หรือเรียกให้ถูกเขาจะเรียกกันว่า Volume) ทั้งหมดที่มีตอนนี้ออกมา

จากนั้น เราจะต้องพิมพ์คำสั่ง เพื่อเลือก Volume ที่ต้องการ โดยเราจะเลือก Volume ที่เป็น Drive C เดิมนะ สังเกตดีๆ มันควรจะมี Label ว่า Windows ถ้าไม่มั่นใจ ควรกลับเข้า Windows ไป Rename มันเอาไว้เลย เดี๋ยวข้อมูลจะหาย อย่าลืมสังเกตดีๆ นะว่าต้องเป็นเลขไหน

select volume volume###

กรณีที่ Volume ที่เราจะทำการลง Windows มันไม่ใช่ Drive C ถ้าฝืนลงไป เราจะได้ Drive Windows ที่ไม่ใช่ C ออกมานะ วิธีการคือ ให้ select volume # ที่เป็น C อยู่ตอนนี้ แล้วใช้คำสั่ง

remove

เพื่อถอด Drive Letter ออก จากนั้น select volume # ที่ต้องการให้เป็น Drive C แล้วใช้คำสั่ง

remove

อีกครั้ง เพื่อถอด Drive Letter ของมันออก ก่อนจะใช้คำสั่ง

assign letter=c

เพื่อตั้งค่าให้มันเป็น Drive C

เมื่อแน่ใจแล้วว่า อยู่ถูก Volume (ใช้คำสั่ง list volume ดูอีกรอบได้ Volume ที่ถูกเลือกอยู่ จะมีเครื่องหมายดอกจัน * ) ให้ใช้คำสั่ง

format fs=ntfs quick

เพื่อลบข้อมูลออก จากนั้นใช้คำสั่ง

exit

เพื่ออกจากโปรแกรม Diskpart

5) เลือก Windows เวอร์ชั่นที่ต้องการ

สำหรับการติดตั้ง Windows ในสมัยนี้ (ตั้งแต่ Windows Vista) จะเป็นการ Copy ไฟล์ Windows จาก Image ลงไป คล้ายการคลาย Zip เลยนั่นแหละ แต่ว่ามันเป็นไฟล์ .wim แทน และก็ไฟล์ .wim ออกแบบมาโดยมีการทำ De-Duplication ทำให้ install.wim ไฟล์เดียว สามารถเก็บข้อมูล Windows ได้หลาย Edition มาก เราก็เลยต้องมาดูก่อนว่า ในไฟล์ .wim นี้ มี Edition ไหนอยู่บ้าง และมันหมายเลขอะไร ต้องดูก่อนทุกครั้ง เพราะว่ามันอาจจะไม่เหมือนกัน เวลาที่ Windows มีเวอร์ชั่นใหม่ออกมา

วิธีการดู คือใช้คำสั่ง

dism /get-wiminfo /wimfile:N:\install.wim

โดย N:\install.wim คือ ที่อยู่ของไฟล์ Wim ทังนี้ เวลาที่เราอยู่ใน Recovery Mode แบบนี้ พวก Drive ต่างๆ มันอาจจะขยับไป ต้องลองเทียบดูตอนที่ list disk ใน Diskpart ว่ามันเป็น Drive อะไรกันแน่นะ สมมุติว่า ถ้าเราวางไฟล์ install.wim เอาไว้ที่ D:\Software\Windows ก็ต้องพิมพ์ว่า

dism /get-wiminfo /wimfile:D:\Software\Windows\install.wim

5.5) ความแตกต่างกันระหว่าง Windows แต่ละ Edition

แน่นอนว่า มันออกมา 11 Edition คงจะต้องสงสัยกันบ้างว่า แล้วจะเลือก Edition ไหนดี ก็แน่นอนว่าต้องเลือกให้ตรงกับ Key ที่ซื้อมานะ ตั้งแต่ตอนลงเลย สำหรับท่านที่สงสัยว่า แต่ละ Edition ต่างกันยังไง ขอสรุปให้ตามนี้เลย

  • Home vs Pro คำถามสุดฮอตของผม ก็บอกเลยว่า สำหรับใช้งานทั่วไป ใช้ Home นะ ยกเว้นว่า ต้องการใช้ความสามารถพิเศษ ที่คนส่วนมากจะไม่ค่อยได้ใช้เหล่านี้ จะต้องใช้ Pro คือ:
    • Join Domain : ถ้าที่บริษัท มี Windows Server ใช้ระบบ Active Directory อันนี้ต้องใช้ Pro เท่านั้นเลย ถึงจะต่อเข้า Domain ได้ ไม่อย่างนั้นเราจะต่อเข้าใช้งานได้ แต่อาจจะต่อ Printer, Share Folder หรือว่า Single Sign-On อะไรไม่ได้เลย
    • ใช้ Docker for Windows หรือใช้ Hyper-V : ถ้าเกิดว่ามี VMWare อยู่แล้ว หรือว่าใช้ VirtualBox ก็ไม่ต้องใช้นะ แต่สำหรับ Docker for Windows จะต้องการ Hyper-V ซึ่งมีใน Pro เท่านั้น ส่วนถ้าเกิดว่าจะใช้ Docker กับ Windows 10 Home สามารถใช้ Docker Toolbox ได้ (ก่อนจะมี Docker for Windows ก็ใช้ตัวนี้น่ะแหละ) แต่ว่า Docker Toolbox จะใช้ Container เป็น Windows ไม่ได้ ส่วน Docker for Windows จะเลือกได้ว่า จะใช้ Windows Container หรือว่าจะใช้ Mobylinux เป็น Container
    • Bitlocker Drive Encryption 
    • ต้องการต่อเข้ามาที่เครื่องที่ลงนี้ โดยใช้ Remote Desktop ของ Windows หรือพูดอีกอย่างก็ให้เครื่องนี้เป็น Server Remote Desktop ซึ่งจริงๆ เราจะใช้ Moonlight (ฟรี), หรือ TeamViewer หรือ VNC ก็ได้ ใน Windows 10 Home มี Remote Desktop Client อยู่แล้ว
    • Pro for Workstations จะเป็น Edition พิเศษอีก ที่ใช้แรมได้เยอะขึ้น 
  • มีตัว N vs ไม่มีตัว N : สำหรับ Windows N คือเวอร์ชั่นพิเศษ ที่ตัดความสามารถด้าน Multimedia ออกทั้งหมด (เปิดไฟล์ MP4 ยังไม่ได้เลย) แต่ว่าสามารถติดตั้งเพิ่มภายหลังได้ มีให้โหลดต่างหากบนเว็บไมโครซอฟท์ แต่การใช้เวอร์ชั่น N จะทำให้ไม่สามารถใช้ Windows Mixed Reality ได้นะ ต่อให้ลง Media Feature Pack ตามไปทีหลังก็ตาม
  • K, KN เป็นเวอร์ชั่นพิเศษสำหรับประเทศเกาหลีใต้ เราก็ไม่จำเป็นต้องใช้เหมือนกัน
  • Enterprise ก็เป็นเวอร์ชั่นที่สูงกว่า Pro ไปอีก ถ้าเป็นบริษัทใหญ่ๆ จะใช้ Windows ตัวนี้ เพราะว่ามันจะควบคุมการใช้งาน Windows ได้เยอะกว่า และก็สามารถทำ Windows To Go ได้ แล้วก็ขายเป็น Pack ใหญ่ สำหรับใช้ทั้งบริษัท
  • Education เป็นเวอร์ชั่นคล้าย Enterprise คือ สามารถถูกควบคุมได้เยอะ (lol!) เหมาะกับการใช้งานในสถานศึกษา และก็นักศึกษามีสิทธํิ์ได้รับแจกตัวนี้ฟรีด้วย
  • Windows Server vs Windows ธรรมดา มีบางคนพยายามที่จะใช้ Windows Server ในชีวิตประจำวันเหมือนกัน ซึ่งผมเองก็เคยต้องใช้นะ เพราะว่างานก่อนนู้น ต้องทำเกี่ยวกับ Server บ่อย ใช้ Windows Server มันเลยเนี่ยง่ายดี ความแตกต่างหลักๆ ก็คือ ทุกชิ้นส่วนของ Windows Server มันสามารถถอดได้ (กระทั่งหน้า Desktop) ทำให้มันเหมาะกับเป็น Server มากกว่า และแน่นอนว่า ก็จะมีชิ้นส่วนสำหรับให้มันเป็น Server ที่เราติดตั้งได้ ที่ Windows ธรรมดาไม่มีมา แต่ในเรื่องประสิทธิภาพ ถ้ามันจะรู้สึกเร็วกว่า ก็น่าจะเพราะว่าชิ้นส่วนมันน้อยลงนะ แต่ข้อจำกัดก็จะเยอะ แล้วก็ต้องมานั่งเซ็ตเยอะ กว่าจะใช้งานปกติได้ แถมโปรแกรม Anti-Virus บางตัวจะต้อง License พิเศษสำหรับ Windows Server ด้วยนะ

เลือกได้หรือยังครับ? :D แน่นอนว่า Home นั่นแหละ พอแล้ว ยกเว้นอยากใช้ Hyper-V นะ

6) ลง Windows จริงๆ ซะที

สำหรับคำสั่งที่ใช้ในการลง Windows คือ dism ครับ ตามนี้

dism /apply-image /imagefile:N:\install.wim /index:1 /applydir:c:\

โดย index:1 หมายถึง เราเลือกลง Windows 10 Home แบบธรรมดานั่นเอง (สำหรับไฟล์ที่ผมมีนี้ 3 เป็น Home Single Language และ 6 เป็น Pro) ส่วน N:\install.wim ก็คือ ไฟล์ install.wim เราอยู่ใน Drive N: นะ

เมื่อโปรแกรม Dism ทำงานเสร็จแล้ว ก็จะต้องใช้คำสั่ง bcdboot เพื่อบอกว่า มี Windows ติดตั้งอยู่ที่ C:\Windows ด้วย ดังนี้

c:\windows\system32\bcdboot c:\windows

เท่านี้ก็เป็นอันเรียบร้อย

7) ข้ามขั้นตอน Out-of-Box-Experience (OOBE) ทัั้งหมด

สำหรับคนที่ลง Windows บ่อยๆ การต้องเจอ OOBE ตลอด จะเป็นเรื่องที่น่าเบื่อมาก วิธีการก็คือ เราจะใช้ไฟล์ที่เรียกว่า unattend.xml เพื่อช่วยตอบคำถามตอน OOBE ให้เราครับ สามารถดาวน์โหลดไฟล์ตัวอย่าง ที่เราใช้กับเครื่อง LEVEL51 ได้เลย (หมายเหตุ: ในไฟล์ จะมีการเรียกใช้ postinstall.exe ซึ่งเป็นการเพิ่ม Settings บางอย่างอีก คือการปิดไม่ให้ Windows ดาวน์โหลด Driver เอง และก็ตั้งค่า Registry ให้แสดงนามสกุลไฟล์ พร้อมกับเปิดลิงค์ติดตั้ง SystemX สามารถดาวน์โหลด postinstall.exe ได้ที่นี่)

วิธีการสร้างไฟล์ unattend นี้ ตามไปอ่านได้จากเว็บไมโครซอฟท์เลย และทางไมโครซอฟท์ ก็มีโปรแกรมสำหรับสร้างไฟล์นี้ขึ้นมาด้วยนะ มันอยู่ใน ADK ถ้าสงสัยว่าบริษัทใหญ่ๆ เครื่องเป็นพันเครื่อง เขาสามารถ Deploy Windows ลงเครื่องทีละเยอะๆ ได้อย่างไร โดยไม่ต้องมานั่งไล่กดไล่ตอบทีละเครื่อง เขาก็ใช้วิธีนี้นั่นเองละครับควบคู่ไปกับระบบอื่นๆ

ส่วนการนำไฟล์ unattend.xml มาใช้งาน ก็เพียงแค่ Copy มันลงไปใน C:\ เท่านั้นเอง โดยใช้คำสั่ง

copy N:\unattend.xml c:\unattend.xml

เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว ก็ใช้คำสั่ง exit เพื่อบูตเข้า Windows ที่เราเพิ่งติดตั้งลงไปอีกครั้งนึง ซึ่งถ้าใช้ unattend.xml แล้ว ก็ไม่ต้องทำอะไรอีกเลย รออย่างเดียว

ส่งท้าย

เฮ้อ ว่าจะเขียนนิดเดียว ทำไมมันออกมายาวขนาดนี้อีกแล้วเนี่ย!!! หวังว่าข้อมูลในโพสนี้จะเป็นประโยชน์ สำหรับคนที่ชอบลงเครื่องใหม่บ่อยๆ หรือว่าฝ่าย IT รวมไปถึงทุกท่านที่อยากลง Windows ใหม่ แต่พอดีไม่มี Thumbdrive ว่างๆ อยู่เลยนะครับ

หลังจากลงเสร็จแล้ว อย่าลืมทำ 5 อย่างนี้ด้วยละ เพื่อให้เครื่องใช้งานได้ดีและก็บำรุงรักษาได้ง่ายด้วย

BLOG

LEVEL51 คือใคร?

เราเป็นบริษัทโน๊ตบุ้คของคนไทย ใช้เครื่องจากโรงงาน CLEVO แบบยี่ห้อดังในต่างประเทศ ที่คุณสามารถเลือกสเปคเองได้เกือบทั้งเครื่อง ถ้าโน๊ตบุ้คและคอมพิวเตอร์ของคุณ คืออุปกรณ์สำคัญในการทำงาน นี่คือเครื่องที่ออกแบบมาสำหรับคุณ

1317
ลูกค้าที่รักเรา
0
เครื่องเกินแสนบาท
49
K
มูลค่าเครื่องโดยเฉลี่ย
0
K
สถิติเครื่องแพงสุด

ลูกค้าหน่วยงานราชการและมหาวิทยาลัย

ลูกค้ากลุ่ม Video Production, 3D Design, Software House

Landscape Design

ลูกค้ากลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมและก่อสร้าง

 

 

 

พิเศษเฉพาะคุณ - รับคูปองส่วนลด 2,000 บาท สำหรับการสั่งซื้อเครื่องกับเรา