ตอนนี้ Notebook ที่ผลิตในช่วงเดือนกันยายนเป็นต้นไป จะเริ่มมีหน่วยความจำ (RAM) มาตรฐานใหม่ที่เรียกว่า DDR4 หรือ "Double Data Rate - Fourth Generation" ออกมาให้เห็นกัน แล้วสงสัยมั๊ยว่า DDR3 ต่างจาก DDR4 อย่างไร? และมันมีผลกับการใช้งานจริงขนาดนั้นหรือเปล่า?
ถ้าอย่างนั้น ต้องมาที่พื้นฐานแรกก่อนเลย ว่า หน่วยความจำ หรือว่า RAM เนี่ย คืออะไร
RAM = PRIMARY MEMORY
ถ้าจะแปลกันตามหนังสือ RAM คือ หน่วยความจำหลักของคอมพิวเตอร์ แน่นอนว่า ถ้ามีหน่วยความจำหลัก ก็ต้องมีหน่วยความจำรอง (หรือสำรอง) ซึ่งพวกนั้นคือ อุปกรณ์เก็บข้อมูลต่างๆ เช่น Hard Drive, Solid State Drive หรือแม้แต่ DVD
ความแตกต่างระหว่างหน่วยความจำหลัก กับหน่วยความจำรอง ก็คือ ความสำคัญของมันนั่นเอง หน่วยความจำหลัก คือหน่วยความจำที่คอมพิวเตอร์นั้นใช้ในการทำงานจริงๆ พอมันทำงานเสร็จแล้ว จึงค่อย Copy ข้อมูลนั้น ไปเก็บเอาไว้ในหน่วยความจำสำรองอีกที ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็ตอนเวลาเราพิมพ์งานอยู่ แล้วไฟดับ คอมดับ ไม่ทันจะได้เซฟงาน สิ่งที่เราพิมพ์ไว้ ก็หายไปหมดนั่นแหละ
สังเกตไหมว่า เวลาเราเล่นเกม มันจะมีหน้าจอ "Loading" ตอนที่มีหน้าจอ Loading เนี่ยแหละ ก็คือการ Copy ข้อมูล (โหลด) จาก HDD/SDD ไปเข้า RAM นั่นเอง โดยข้อมูลที่ว่า ก็ได้แก่ตัวโปรแกรม ที่เราต้องการให้ทำงาน แล้วก็ข้อมูลที่อยากจะให้โปรแกรมนั้นทำงานด้วย ถ้าเปรียบเป็นเกม โปรแกรมที่เราต้องการให้ทำงานก็คือตัวเอนจิ้นเกม ข้อมูลนั้นก็คือภาพ Texture ของเกม ไฟล์เสียง ไฟล์เพลง นั่นเอง
โดยสรุป ก็คือ
- CPU ทำงานกับ หน่วยความจำหลักเท่านั้น
- หน่วยความจำหลัก เอาไว้เก็บโปรแกรม
- หน่วยความจำหลัก เอาไว้เก็บข้อมูลที่โปรแกรมจะใช้ทำงาน
ซึ่งเราก็สรุปต่อได้อีกว่า
- หน่วยความจำหลัก ยิ่งมีเยอะ ยิ่งดี เพราะว่า CPU จะได้ทำงานกับข้อมูลได้เยอะกว่า
- หน่วยความจำหลัก ยิ่งเร็ว ก็ยิ่งดี เพราะว่า CPU จะได้อ่านข้อมูลได้เร็วขึ้น
การพัฒนาหน่วยความจำ ก็เลยต้องทำสองส่วนคู่กัน คือ ต้องทั้งใหญ่ ทั้งไว!!!
DDR = Double Data Rate Memory
หน่วยความจำรุ่นเก่ามากๆ ที่คิดว่าหลายคนคงจะเกิดไม่ทัน มีมาตั้งแต่ EDO RAM (Enhanced Data Out Memory = แรมที่ส่งข้อมูลออกได้ไว), SDRAM (Synchronous Data Rate Memory = แรมที่ทำงานพร้อมกับความเร็วบัส) อยากอธิบายแต่ เดี๋ยวจะออกทะเลไปไกล สรุปว่า มันเป็นแรม ที่ในที่สุดก็ทำงานเร็วเท่าความเร็วช่องทางการส่งข้อมูลใน Mainboard ได้ (บัส) เพราะแต่ก่อนแรมช้ามาก เมื่อเทียบกับ CPU
พอเทคโนโลยีเราก้าวไกลมากขึ้น ก็เกิดเทคนิค DDR ขึ้น เป็นเทคนิค ที่ทำให้ CPU สามารถอ่านและเขียนข้อมูลบน RAM ได้พร้อมกันทีละ 2 Word จากเดิมแค่ Word เดียว (1 Word = 32 หรือ 64 บิต ขึ้นอยู่กับจำนวนบิตของ CPU) ส่วน DDR2 เพิ่มให้มากขึ้นเป็น 4 Word และ DDR3 นั่น อยู่ที่ 8 Word
DDR4 - DDR Fourth Generation
ส่วนแรมแบบ DDR4 นั้น ก็ควรจะเป็นการอ่านได้ 16 Word พร้อมกันสินะ! ผิดครับ ยังอ่านได้ 8 Word เท่าเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ DDR4 ทำงานที่แรงดันไฟลดลง จาก 1.5V ใน DDR3 และ 1.35V ใน DDR3L เหลือแค่ 1.2V แทน และกำหนดความเร็วเริ่มต้นที่ 2133MT/s (2 พันล้านคำสั่งต่อวินาที) ซึ่งเป็นความเร็วที่ถือว่าสูงมาก ถ้าเทียบกับ DDR3 ซึ่งมักจะมีความสามารถอยู่ที่ 1600MT/s
ทีนี้ ก็ต้องมาลองวัดกันดูว่า แรมแบบ DDR4 นั้น เร็วกว่า DDR3 ขนาดไหน และมีผลกับการใช้งานแค่ไหน พอดีเลยว่า เรามีเครื่อง ที่ CPU เหมือนกัน Chipset เดียวกัน แต่ใช้แรมกันคนละแบบ อยู่สองเครื่องพอดี ก็คือ XP15S (DDR4) และ N15 (DDR3)
XP15s (CLEVO P650RE3-G) | N15 (CLEVO N151RD) |
Synthetic Test
สำหรับการทดสอบ เราก็ทดสอบง่ายๆ ด้วยโปรแกรม Pass Mark ครับ จะเห็นว่า แรม แบบ DDR4 นั้น สามารถส่งข้อมูลได้ที่ความเร็วสูงถึง 26.8GB เลยทีเดียว